วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การใช้เกียร์อัตโนมัติและปุ่มสวิทช์ควบคุมต่างๆ

เกียร์อัตโนมัติจะมีตำแหน่งบอกของแต่ละเกียร์ ซึ่งแต่ละเกียร์จะมีหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้ตำแหน่งของเกียร์ได้ อย่างถูกต้อง และทุกครั้งที่จะทำการเปลี่ยนเกียร์จากตำแหน่ง “P” หรือ “N” ไปยังตำแหน่งเกียร์อื่นๆ ควรทำการเหยียบเบรกไว้ด้วยทุกครั้ง และป้องกันการ กระตุกของตัวรถด้วย






เกียร์ “ P ” จอดและสตาร์ทเครื่องยนต์ ตำแหน่งนี้ใช้เมื่อจอดรถ ซึ่งจะล็อคเกียร์ได้ ป้องกันไม่ให้รถเลื่อนไหลและ สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้
เกียร์ “ R ” ถอยหลัง ตำแหน่งนี้จะทำให้รถเคลื่อนที่ถอยหลัง
เกียร์ “ N ” เกียร์ว่าง เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้ เครื่องยนต์จะไม่เชื่อมต่อกำลังกับล้อรถ ทำให้รถเลื่อนไหลไปมาได้ และสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้
เกียร์ “ D ” ขับ เมื่อเข้าอยู่ในตำแหน่งนี้รถจะเคลื่อนที่ออกไปข้างหน้า เมื่อคุณเหยียบคันเร่งขณะที่รถแล่นเร็วขึ้น เกียร์ก็จะเปลี่ยนขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อลดความเร็วระดับของเกียร์ก็จะลดเปลี่ยนเองตามความเร็ว
เกียร์ “ 2 ” เกียร์ 2 ในตำแหน่งนี้ เกียร์จะเปลี่ยนเฉพาะเกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น เมื่อต้องการให้เครื่องยนต์ช่วยเบรกหรือต้องการขับลงเขา
เกียร์ “ L ” เกียร์ต่ำ ในตำแหน่งนี้ เกียร์จะทำงานที่เกียร์ 1 อย่างเดียว ใช้เมื่อต้องการการฉุดลากมากกว่าเกียร์ 2 หรือต้องการให้เครื่องยนต์ช่วยเบรกมากกว่าเกียร์ 2

ข้อควรระวัง ในการใช้เกียร์อัตโนมัติ
• ขณะที่รถหยุดนิ่งควรเหยียบเบรกก่อนเข้าเกียร์
• ก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์กลับทิศทางเดินหน้าหรือถอยหลังควรที่จะให้รถหยุดสนิทเสียก่อน
• ไม่ควรกดปุ่มปลดล็อคในการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งจะใช้เฉพาะเกียร์ที่ต้องกดปุ่มปลดล็อคเท่านั้น เช่น เกียร์ P,R,2 และ L

ข้อควรระวังที่ได้กล่าวถึงนี้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของรถเอง เนื่องจากในขณะที่จะเข้าเกียร์เดินหน้าหรือถอยหลัง ควรให้รถจอดให้สนิทเสียก่อน เพื่อป้องกันผ้าคลัทช์ที่อยู่ในชุดเกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เพราะความแตกต่างระหว่างรอบของเครื่องยนต์ที่สูง อาจทำให้ผ้าคลัทช์ในชุดเกียร์ ์เกิดการลื่นไถลในขณะที่จะทำการจับยึดกับแผ่นรอง จึงทำให้เกิดการสึกหรอที่เร็วขึ้นและยังทำให้น้ำมันเกียร์สกปรกเร็วขึ้นด้วย ดังนั้นในการเปลี่ยน เกียร์ควรหยุดรถให้สนิทเสียก่อน พร้อมกับเหยียบเบรกไว้เพื่อป้องกันการกระตุก และให้คลัทช์ได้จับเต็มที่ก่อนก่อนที่จะทำการเหยียบคันเร่งเพื่อออกรถหรือถอยหลังต่อไป

อีกเรื่องที่ข้อควรระวังได้กล่าวถึง คือ เรื่องการกดปุ่มปลดล๊อคเกียร์ ก็เพื่อป้องกันอันตรายจากการพลาดไปเข้าเกียร์ผิด เช่น ในขณะที่ต้องการจอดรถหรือจะเปลี่ยนจาก D ไป N หากเรากดปุ่มปลดล็อคเกียร์ไว้ด้วย อาจจะทำให้หลุดจากเกียร์ N ไปที่ R ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ ดังนั้นเราต้องการจะเปลี่ยนจาก D ไป N ควรจะเลื่อนเกียร์ไปเลยไม่ต้องกดปุ่มปลดล็อค เพื่อไม่ให้เกียร์เลยไปที่ R หรือ P เพราะนอกจากจะทำให้เกียร์ชำรุด แล้วยังอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในรถรวมถึงบุคคลอื่นด้วย





ปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟ [O/D OFF]
ปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟ [O/D OFF] จะมีไว้เพื่อเป็นปุ่มกดสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] รถจะวิ่งได้ 3 เกียร์ คือเกียร์ 1 ถึงเกียร์ 3 [D3] และสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] รถจะวิ่งได้ 4 เกียร์ คือเกียร์ 1 ถึงเกียร์ 4 [D4] แต่อย่างไรก็ตามควรให้โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] เพื่อที่รถยนต์จะวิ่งได้ครบทุกเกียร์ หากโอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] แสดงขึ้นมาที่หน้าปัทม์รถยนต์แสดงว่ารถจะวิ่งได้แค่ 3 เกียร์ คือ [D1,2,3] จะมีผลต่อการกินน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นเมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว ปกติควรให้โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] ไว้ตลอดเวลาเพื่อช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [ O/D OFF ] จะใช้ก็ต่อเมื่อรถวิ่งที่ความเร็วปกติ เกียร์ [D4] และเมื่อเราต้องการที่จะเร่งแซงรถคันข้างหน้าเราจึงกดปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [ O/D OFF ] รถก็จะเปลี่ยนจากเกียร์ [D4] มาเป็น [D3] ทำให้รถมีกำลังที่จะวิ่งแซงรถคันข้างหน้า เมื่อเราวิ่งแซงรถคันข้างหน้าได้ แล้วเราควรยกเลิกโอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] ให้เป็น โอเวอร์ไดร์ฟออน [ O/D ON ] รถก็จะเปลี่ยนจากเกียร์ [D3] มาเป็น [D4] รถก็จะวิ่งด้วยความเร็วปกติ





ปุ่มสวิทช์ PWR ECT
ปุ่มสวิทช์ PWR ECT จะมีไว้เพื่อ เมื่อเรากดปุ่ม PWR ECT นี้ จะทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนเกียร์จาก D1--> D2--> D3--> D4 [ ขับขี่ที่ตำแหน่ง “D”] จะยาวขึ้นหรือเหมือนกับการลากเกียร์เป็นการขับขี่แบบสปอร์ จะทำให้มีการเปลี่ยนเกียร์ที่รอบเครื่องยนต์สูงกว่าปกติ จึงมีผลทำให้รถมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น เหมาะสำหรับการขับขี่บน Hi-WAY เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการขับขี่ แต่อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ใช้การขับขี่ในโหมด “ ปกติ ” เพื่อประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากโหมด “ ปกติ ” จะคำนวณปริมาณการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เหมาะสมกับการใช้งานในรอบเครื่องยนต์นั้นๆ ซึ่งถูกควบ คุมโดยกล่องควบคุมเครื่องยนต์ตามความเหมาะสมกับภาระของเครื่องยนต์ และตามลักษณะของการขับขี่ขณะนั้น โดยประมวลผลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ของเครื่องยนต์ จึงทำให้มีความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับขี่ มากกว่าการขับขี่ในโหมด PWR ECT





ปุ่มสวิทช์ TRC OFF
ปุ่มสวิทช์ TRC OFF จะมีไว้ใช้สำหรับยกเลิกการใช้งานของระบบป้องกันการตะกุยหรือล้อหมุนฟรีของรถยนต์ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่รถติดหล่ม เพื่อไม่ให้มีการตัดกำลังจากเครื่องยนต์ ที่จะส่งไปยังชุดเกียร์และล้อ ทำให้ล้อสามารถหมุนได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้หลุดจากอุปสรรคนั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากเฟืองท้ายแบบลิมิตเต็ดสลิป แต่ถ้าหากไม่มีสวิทช์ TRC OFF เมื่อรถติดหล่มก็จะไม่สามารถขึ้นจากหล่มได้ เนื่องจากเมื่อรถติดหล่มล้อรถก็จะหมุนฟรี ีระบบป้องกันล้อหมุนฟรีก็จะทำงานโดยการตัดกำลังของเครื่องยนต์ที่จะส่งไปยังชุดเกียร์ มีผลทำให้รถไม่มีกำลังที่จะขึ้นจากหล่มนั้นได้ โดยเมื่อจะใช้งานให้กดสวิทช์ TRC OFF ไฟก็จะติดที่หน้าปัทม์เรือนไมล์ ......เพื่อแสดงว่าระบบได้ยกเลิกการใช้งานระบบป้องกันล้อหมุนฟรีแล้วจึงทำให้รถสามารถขึ้นจากหล่มนั้นได้

credit : http://www.phithan-toyota.com

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ป้ายแดง กับหลายเรื่องยุ่ง



แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ป้ายแดง หมายถึงป้ายทะเบียนสีแดงตัวอักษรดำ ที่มีไว้สำหรับรถใหม่เอี่ยม ซึ่งอยู่ในช่วงรอจดทะเบียนเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนจริง แต่ในความเป็นจริง ยังมีหลายเรื่องยุ่งที่น่าสนใจ

++ ป้ายแดงปลอม++

ป้ายแดงที่ถูกกฎหมาย ต้องออกจากทางราชการและมีสมุดคู่มือประจำรถควบคู่กันเสมอ คือ ป้ายแดง 2 แผ่นสำหรับติดรถด้านหน้าและด้านหลังกับสมุดคู่มือฯ อีก 1 เล่ม

ปัญหาป้ายแดงปลอมเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ

1.ราชการผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่รถใหม่ขายดีมากๆ อย่างปี 2546 นี้ น่าจะมียอดขายรถทุกประเภทรวมถึงกว่า 500,000 คัน ในเมื่อรถขายดี แต่ไม่มีป้ายแดงให้ ก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายตั้งใจแก้ไขปัญหาโดย ไปสรรหาขอป้ายแดงจากหน่วยงานราชการในจังหวัดที่ยังพอมีเหลืออยู่ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายมักง่ายจนเกิดเป็นกรณีที่ 2 คือ
2. เมื่อป้ายแดงขาดแคลนก็ไม่พยายามสรรหา หรือแม้ไม่ขาดแคลน แต่เอาง่ายเข้าว่า ซื้อป้ายแดงปลอมที่ผลิตขายกันทั่วไปในราคาป้ายละ 100-150 บาท

++ตรวจสอบอย่างไร++

ผู้ซื้อมีหน้าที่ปกป้องตัวเอง โดยดูที่ตัวป้ายแดง ทุกป้ายต้องมีตัวย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวา รถ 1 คันต้องใช้ 2 ป้าย เพื่อติดด้านหน้าและหลัง สมุดคู่มือประจำรถต้องเป็นของทางราชการ ระบุตัวหมวดอักษรและตัวเลขเดียวกับป้ายทะเบียนทั้งหมด ยังมีหน้ากระดาษและช่องเหลือสำหรับกรอกรายละเอียดการใช้รถอย่างน้อย 1-2 หน้า



++กฎเดิมยังบังคับใช้ครบ++

กรอกรายการใช้รถ ห้ามขับตอนมืด ถ้าจะขับตอนมืดต้องขออนุญาต กฎพื้นฐานเดิมของการใช้รถป้ายแดง ปัจจุบันยังมีการบังคับใช้ครบถ้วน โดยมีสาระสำคัญคือ
1. ทุกครั้งที่ใช้รถเดินทาง ต้องกรอกรายละเอียดในรายการใช้รถในสมุดคู่มือฯ ให้ครบถ้วน
2. ถ้าทำตามข้อ 1 แล้วจะสามารถใช้รถได้เฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก (เวลากลางวัน) เท่านั้น (ไม่ใช่ 6.00-18.00น.)
3. หากจะใช้รถตอนมืด เวลาพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น (เวลากลางคืน) ไม่ว่าจะค่ำ ดึก หรือเช้ามืด นอกจากต้องทำตามข้อ 1 แล้วจะต้องขอรับอนุญาตจากนายทะเบียน (จะต้องมีลายมือชื่อนายทะเบียนของทางราชการในรายการใช้รถ) หากมีการฝ่าฝืนในข้อใด มีโทษปรับ

++ทำไมห้ามขับตอนมืด++

หลายคนสงสัย แต่เท่าทีสอบถามเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน (ซึ่งไม่ใช่คนออกกฎนี้) ได้รับคำตอบว่า เพราะป้ายแดงเป็นป้ายชั่วคราวที่สามารถหมุนเวียนนำไปใช้ได้ โดยการหมุนเวียนเปลี่ยนคันรถไม่ต้องขออนุญาตจากทางราชการ อีกทั้งยังมีสีเข้ม อ่านได้ยากตอนกลางคืน ดังนั้นหากเกิดเหตุอะไรไม่ชอบมาพากลตอนกลางคืน นอกจากจะอ่านเลขทะเบียนยากแล้ว ถ้าอ่านออก การติดตามหรือค้นหารถคันจริงที่ใช้ป้ายนั้นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จะยุ่งยากกว่าการตามรถที่มีป้ายถาวรแล้ว

หลายคนบอกว่า ถ้าป้ายแดง อ่านยากตอนกลางคืน ก็น่าจะเปลี่ยนสีป้ายในกลุ่มนี้เพื่อให้ใช้งานได้ 24 ชม. ก็มีส่วนจริง แต่นั่นเป็นแค่ความเห็น เพราะล่าสุดยังไม่มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายนี้ ตราบใดที่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ประชาชนก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จะล้าสมัยก็ตาม นอกจากนี้ ถ้ามองในแง่ดี การเข้มงวดการใช้รถป้ายแดงตอนกลางคืน ก็มีผลดีต่อการป้องการกันโจรกรรมบ้างเล็กน้อย เพราะรถใหม่ยังไม่จดทะเบียน มีแต่ป้ายแดง ยากต่อการติดตาม ถ้ามีการสลับป้ายทะเบียนหลังการโจรกรรม





++อนุโลม จนนึกว่าทำได้หรือกฎเปลี่ยน++

โดยเฉพาะประเด็นของการใช้รถป้ายแดงตอนมืด หลายคนคิดไปเองว่า กฎเลิกบังคับใช้แล้ว นึกว่าสามารถใช้งานได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะเห็นรถป้ายแดงบ่อยๆ ตอนมืด แล้วก็ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดจับกุมเลย ในความเป็นจริง กฎยังบังคับใช้ครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่อนุโลมให้ เพราะเห็นความจำเป็นในการใช้รถ เช่น คาบลู่คาบดอกในการเดินทาง ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด หรือออกจากที่ทำงานตอนเย็นยังไม่มืด แต่การจราจรติดขัดมาก มืดขณะที่รถคาอยู่บนถนนยังไม่ถึงบ้าน

นอกจากนั้นการอนุโลม ยังเกี่ยวข้องไปถึง การกรอกรายการใช้รถในเล่มทุกครั้งที่เดินทาง พบว่าน้อยครั้งมากที่ใครจะทำเช่นนั้น เพราะขี้เกียจ และเจ้าของป้ายแดงต้องขอเปลี่ยนสมุดคู่มือบ่อยมาก ถ้าใช้รถทุกวันและกรอกตามจริง ไม่กี่วันก็หมดเล่ม ต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนใหม่ การอนุโลมในวงกว้าง ทำให้หลายคนคิดว่า ป้ายแดงใช้ได้ทั้งวันทั้งคืน และใช้ได้โดยไม่ต้องกรอกรายการใช้รถ การอนุโลมก็คือ อนุโลมจากผู้ถือกฎหมาย ไม่ใช่เป็นตัวบทกฎหมายเฉพาะกาลออกมา

ดังนั้นถ้าใครไม่ทำตามแล้วถูกจับกุม ก็ไม่สามารถร้องเรียนหรือโวยวายได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่

++ชอบ/ไม่ชอบ ป้ายแดง++

บางคนคิดว่าการใช้รถป้ายแดงมีความเท่ ยิ่งใช้นานเท่าไรยิ่งดี อีกทั้งยังมีพลอยได้ไปถึงราคาขายต่อ หากยื้อใช้ป้ายแดงได้นาน หรือดีมากหากนานข้ามปี เพราะใบคู่มือจดทะเบียนจริง จะแสดงวันที่จดทะเบียนเท่านั้น จะใช้ป้ายแดงมากี่เดือนกี่ปี่ไม่เกี่ยว บางคนไม่ชอบใช้รถป้ายแดง เพราะถ้าใช้ตอนมืด จะต้องลุ้นว่าถ้าเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วจะได้รับการอนุโลมหรือไม่

ขั้นตอนการจดทะเบียนรถของทางราชการ สามารถเสร็จสิ้นได้ภายในไม่กี่วัน หรืออย่างช้าที่สุดไม่น่าเกินครึ่งเดือน ถ้าช้ากว่านั้นแสดงว่าปัญหาอยู่ที่ผู้ขายหรือผู้นำเนินการ ไม่ใช่ทางราชการ เช่น รอรวบรวมไปดำเนินการพร้อมกันหลายคัน หรือนำเอกสารของรถคันนั้นไปหมุนเวียนเป็นเงิน (บางกรณีหมุนเป็นเงินจนถูกยึด ไม่มีเอกสารมาจดทะเบียนเลยก็มี)


++สรุป ทำอย่างไร++

รับรถพร้อมป้ายแดงแท้ 2 แผ่น ติดรถที่ด้านหน้า-หลัง ต้องมีตัวย่อ ขส นูนที่มุมล่างของป้าย พร้อมสมุดคู่มือประจำรถ หมวดตัวอักษรเลขตรงกันทั้งหมด การไม่กรอกรายการใช้รถตามจริงลงในสมุดคู่มือทุกครั้ง จะได้รับการอนุโลมมากกว่ากรณีใช้รถตอนมืด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ทันที และไม่สามารถเถียงได้ ผิดเต็มประตู เพราะกฎหมายยังบังคับใช้ตามเงื่อนไขเดิมอยู่

ถ้าจำเป็นต้องใช้รถป้ายแดงตอนกลางคืน ก็บอกได้ชัดเจนว่าว่า คุณกำลังทำผิดกฎหมาย พร้อมถูกจับและถูกปรับได้ทุกเมื่อ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จับ คือ อนุโลม ไม่ใช่ไม่ผิด และยากถ้าจะขับรถป้ายแดงให้ถูกกฎหมายตอนมืด เพราะต้องยุ่งยากไปให้เจ้าหน้าที่ราชการนายทะเบียนลงลายมือชื่อกำกับทุกครั้ง

ไม่ว่าทางราชการยุคก่อน จะมีเหตุผลใดในการไม่สนับสนุนให้ใช้รถป้ายแดงตอนมืด แต่กฎก็คือกฎ หากจะฝ่าฝืน ก็นับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องทำใจ ที่คนไทยต้องทำตามหลายกฎหมายเดิมอันล้าสมัย




ที่มา : ผู้จัดการออนไลท์ วันที่ : 14-11-2008